พี่จัดว่าเป็นแคลคูลัสที่สำคัญที่สุดในซีรีย์วิชาแคลคูลัสเลยครับ แคลฯ1 เหมือนเป็นฐานของพีระมิดในการเรียนวิศวะเลยก็ว่าได้ หากฐานไม่แข็งแรง ก็ยากที่จะสร้างพีระมิดที่มั่นคงและสมบูรณ์ได้ใช่มั้ยครับวิชานี้จะคล้ายกับแคลคูลัสพื้นฐานตอน ม.ปลายครับ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆคือ 1. Differential calculus หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “ดิฟ” นั่นแหละ และ 2. Integral calculus หรือที่เราเรียกว่า “อินทิเกรต”
แต่ถึงจะเหมือนกันแต่แคลฯ1ระดับมหาลัย จะลึกกว่า ม.ปลายเยอะนะ เช่นตอน ม.ปลายเราจะเรียนการดิฟฟังก์ชันง่ายๆ แต่ในมหาลัยเราจะต้องดิฟได้ทุกฟังก์ชันครับ เรียนดิฟจบก็มาต่อที่อินทิเกรต และแน่นอนเราจะต้องอินทิเกรตฟังก์ชันพื้นฐานเป็นทุกฟังก์ชัน สิ่งที่ท้าทายเฟรชชี่อย่างพวกเราที่สุดสำหรับวิชานี้ยกให้ เรื่อง“เทคนิคอินทิเกรต” ทั้ง 5 แบบเลยครับ เจอหัวข้อนี้ไปดิฟก่อนหน้าคือง่ายไปเลย
วิชาพื้นฐานสำหรับเด็กวิศวะทุกคน เนื้อหามีหลายเรื่องครับ ตั้งแต่กลศาสตร์ คลื่น ของไหล จนไปถึงเทอร์โมไดนามิกส์ ซึ่งเนื้อหาประมาณ 60% เหมือนตอน ม.ปลาย อีก 40% เป็นของใหม่
วิชานี้ถือว่าเป็นวิชาปราบเซียนสำหรับเด็กปี 1 ถึงแม้ว่าเนื้อหาดูคล้ายกับตอน ม.ปลาย แต่มีความลึก เยอะกว่าและยากกว่า จะเริ่มมีการใช้แคลคูลัสเข้ามาผสมกับเนื้อหาฟิสิกส์ และอาจารย์จะสอนเร็วมากกกก น้องๆ หลายคนปรับตัวไม่ทัน ถ้าอยากเรียนฟิสิกส์ 1 ให้รู้เรื่องมากขึ้นพี่ขอแนะนำให้ทบทวนเรื่องเวกเตอร์ แคลคูลัส และเนื้อหาฟิสิกส์ตอน ม.ปลายให้แม่นๆ ครับ
วิชานี้น้องๆ จะได้ลงมือทำการทดลองจริง จับอุปกรณ์จริงๆ โดยส่วนใหญ่จะได้จับคู่ทำการทดลองกับเพื่อนครับ ถ้าเข้าทำแล็บอย่างสม่ำเสมอก็จะผ่านวิชานี้ไปได้แบบสบายๆ เพราะวิชานี้เก็บคะแนนจากการเข้าแล็บเป็นหลัก
การทดลองในวิชานี้จะล้อไปกับเนื้อหาในวิชาเลคเชอร์ โดยจะเริ่มตั้งแต่ฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์การวัดที่มีความละเอียด เช่น เวอร์เนียร์ ไมโครมิเตอร์ วิเคราะห์ความคลาดเคลื่อน (error) จากการวัด แล้วก็จะไปสู่การทดลองต่างๆ เช่น การหาค่า g จากการแกว่งลูกตุ้ม การหาค่า k ของสปริง การแกว่งของแท่งไม้ คลื่นนิ่งในเส้นเชือก ความหนืดของของไหล (มหาลัยต่างๆ อาจมีการทดลองที่แตกต่างกัน) การทดลองส่วนใหญ่จะเอาข้อมูลที่ทำการวัดได้มาเขียนกราฟเส้นตรง แล้วหาปริมาณที่ต้องการจากกราฟครับ
วิชานี้ภาษาไทยชื่อวัสดุวิศวกรรม หรือเด็กวิศวะจะเรียนสั้นๆว่า Material ครับเนื่องจากความเข้าใจศาสตร์แห่งวัสดุ เป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าใจหลายวิชาด้านวิศวกรรม จึงจัดเป็นวิชาที่ปี1 จะต้องเรียน
เนื้อหาของวิชานี้เราจะเรียนตั้งแต่สิ่งที่เล็กมากๆในเนื้อวัสดุนั่นคือโครงสร้างอะตอมจนไปถึงสมบัติต่างๆไม่ว่าจะเป็น ทางกล ทางเคมี และทางความร้อน จากนั้นจะเข้าสู่หัวข้อ “Phase diagram” หรือศึกษาการเปลี่ยนเฟสของวัสดุต่างๆ
และในตอนท้ายน้องๆจะได้เรียนการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสม เช่น โลหะผสม พอลิเมอร์ เซรามิก ฯลฯ
วิชานี้ภาษาไทยชื่อว่าเขียนแบบวิศวกรรม เป็นวิชาสุดคลาสสิกที่เด็กวิศวะปี1 เกือบทุกภาคต้องเรียน โดยวิชานี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคู่ขนานกันไป คือภาคบรรยาย กับ ภาคปฏิบัติ
วิชานี้จะสอนน้องตั้งแต่อุปกรณ์เขียนแบบมีอะไรบ้าง รูปลักษณ์มาตรฐานสำหรับการอ่านแบบ drawing ที่วิศวกรต้องรู้ การเขียนแบบไอโซเมตริกและออบลีคทำอย่างไร จนไปถึงแนะนําการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการเขียนแบบ
ยากหรือป่าว? อันนี้แล้วแต่ความถนัด แต่ที่แน่ๆคือ งานเยอะมากกก ที่สำคัญคืองานที่ส่งต้องละเอียดมาก ใครทำชุ่ยๆไปโดนหักคะแนนยับ ฮ่าๆ
เคมีถือเป็นพื้นฐานความรู้หนึ่งที่วิศวกรต้องรู้ครับ โดยวิชานี้เหมือนเป็นการเอาวิชาเคมี ม.ปลายทั้งหมด มาลงเจาะลึก และมามัดรวมไว้ในวิชาเดียว ใครที่ไม่ค่อยชอบวิชานี้อาจจะไม่ถูกใจสิ่งนี้ เราจะเรียนตั้งแต่ปริมาณสารสัมพันธ์ พื้นฐานของทฤษฏีอะตอม การจัดเรียงอะตอม คุณสมบัติของตารางธาตุ พันธะเคมี ต่อด้วยการศึกษาสสารในสภาวะต่างๆคือ ของแข็ง ของเหลว และแก๊ส แบบเจาะลึก และสุดท้ายจะมาจบที่สมดุล และ ไฟฟ้าเคมี
ดูจากชื่อพี่ว่าน้องคงคุ้นๆมาจาก ม.ปลายกันใช่มั้ยครับ แต่อย่างที่พี่บอกครับ เนื้อหาของมหา’ลัยจะลึกกว่ามาก
ในวิชานี้น้องๆจะได้ใช้ความรู้จากวิชา Fundamental Chemistry มาใช้ปฏิบัติในห้องปฏิบัติการจริงๆครับหัวข้อในแต่ละรายละเอียดก็จะสร้างกับเรื่องที่เรียนใน lecture วิชา Chemistry เลย โดยน้องๆจะได้จับกลุ่มกับเพื่อนๆ ใช้อุปกรณ์ในแลปจริง สารเคมีจริง ปฏิบัติและบันทึกผลภายใต้การควบคุมของอาจารย์และพี่ๆผู้ช่วย
จากนั้นนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ว่าตรงกับทฤษฏีที่เรียนมาหรือไม่ ถือเป็นอีก 1 วิชาที่สนุกและได้ความรู้มากๆ
หลังจากที่เรามีความรู้เรื่องดิฟ และ อินทิเกรตอย่างแตกฉานในวิชาแคลฯ1 แล้ว เราจะไปสู่เนื้อหาที่ advance ขึ้นกัน โดยวิชานี้พี่ขอแบ่งเป็น 2 หัวข้อหลักๆคือ 1. การดิฟ และ อินทิเกรตฟังก์ชันหลายตัวแปร และ 2. ลำดับและอนุกรมอนันต์
มาเริ่มกันที่ข้อ 1. น้องจะต้องเรียนตั้งแต่กราฟ, domain-range ของฟังก์ชันหลายตัวแปร(เหมือนกลับไปเรียนเรื่องฟังก์ชันใหม่) จนไปถึงหัวข้อใหญ่ๆคือการเคิล(การดิฟของฟังก์ชันที่มากกว่า 1 ตัวแปร) และ อินทิเกรตหลายชั้น
ส่วนข้อ 2. แม้จะชื่อคล้ายกับ ม.ปลาย แต่เราจะเรียนลำดับ และ อนุกรม ชนิดอนันต์เท่านั้น น้องๆคิดว่าผลบวกที่บวกกันไม่สิ้นสุดจะไปจบที่ไหน? ถ้าอยากรู้ต้องเรียน แต่บอกไว้ก่อน สำหรับพี่ยกให้บทนี้เป็นบทที่ยากติด TOP3 ในจักรวาลแคลคูลัสเลย
วิชานี้เป็นภาคต่อจาก Physics 1 เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องสนามไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก วงจรไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แสง และฟิสิกส์ยุคใหม่ แค่เห็นเรื่องไฟฟ้าน้องๆ หลายคนก็เริ่มเบะปากแล้วใช่มั้ยครับ
ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าเนื้อหาในวิชานี้ก็ยากกว่า Physics 1 แน่นอน ต้องใช้จินตนาการมากขึ้น มีการใช้คณิตศาสตร์มากขึ้นทั้งเวกเตอร์และแคลคูลัสเข้ามาคำนวณแบบจริงจัง แต่ก็ไม่ได้ยากไปซะทุกเรื่องนะครับ เรื่องที่ง่ายๆ เรียนแล้วเห็นภาพชัดๆ ก็มีอย่างเช่นเรื่องแสง วิชานี้อาจจะยากซักหน่อย แต่ถ้าน้องๆ เปิดใจ เรียนด้วยความเข้าใจ และทำโจทย์บ่อยๆ ก็จะผ่านวิชานี้ไปได้แน่นอนครับ !
วิชานี้เป็นการลงมือปฏิบัติเช่นเดียวกับในเทอมแรกครับ การทดลองในวิชานี้ก็จะล้อไปกับวิชาเลคเชอร์ซึ่งจะเป็นเรื่องไฟฟ้าอุปกรณ์การทดลองจะเริ่มซับซ้อนขึ้น เช่น มัลติมิเตอร์ ออสซิลโลสโคป น้องๆ จะได้ทดลองต่อวงจรไฟฟ้าตั้งแต่แบบง่ายๆ จนไปถึงวงจรที่ซับซ้อน นอกจากนี้ก็จะมีการทดลองเกี่ยวกับแสง ถ้าเรียนเรื่องนี้ในวิชาเลคเชอร์อาจจะนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าได้ลงมือทำแล็บ เห็นผลการทดลองจริงๆ จะช่วยให้เข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้นครับ
เป็นวิชาที่จะสอนเราเขียนโปรแกรมเบื้องต้น ซึ่งภาษาที่ใช้เขียนก็แล้วแต่หลักสูตรของแต่ละมหา’ลัยเลยครับ มีทั้งภาษา C, C++ และ Python แต่การเขียนโปรแกรมมีพื้นฐาน logic ที่คล้ายกันต่างกันแค่ภาษาที่ใช้ดังนั้นหากเข้าใจซักภาษาหนึ่ง ก็จะศึกษาภาษาอื่นๆได้ไม่ยากครับ
โดยในวิชานี้จะเรียนตั้งแต่ชนิดของข้อมูล การเขียน flow chart การเขียนโปรแกรมแบบมีเงื่อนไข คําสั่งทํางานแบบวน loop การเรียนฟังก์ชันเป็นต้น โดยในแต่ละหัวข้อที่เรียนเราก็จะได้รับ assignment ให้ลองเขียนโปรแกรมแล้วส่งในทุกๆ week
และในช่วงท้าย น้องๆจะได้ทำโปรเจคเขียนโปรแกรมจริงๆเป็น final project ของวิชานี้ครับ